รศ.ดร.นิพนธ์ เกตุจ้อย และ รศ.ดร.ประพิธาริ์ ธนารักษ์ ร่วมเป็นวิทยากรงานสัมมนาการศึกษาเรื่อง การปลูกพืชร่วมกับแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศไทย (Agrivoltaics in Thailand)

     เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2566 รศ.ดร.นิพนธ์ เกตุจ้อย ผู้อำนวยการ SGtech และ รศ.ดร.ประพิธาริ์ ธนารักษ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร เข้าร่วมงานสัมมนา TGED ส่งเสริมศักยภาพการพัฒนานโยบายและเทคโนโลยี Agrivoltaics ของไทย หัวข้อ “การปลูกพืชร่วมกันกับแผงโซลาร์เซลล์ (Agrivoltaics) ในประเทศไทย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมของโครงการ Thai-German Energy Dialogue (#TGED) เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่อง Agrivoltaics และสร้างโอกาสการสนทนากับหน่วยงานรัฐของไทยที่เกี่ยวข้อง จัดโดย องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (#GIZ)
     ดร.สมภพ พัฒนอริยางกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน กล่าวเปิดงาน โดยกล่าวถึงความพยายามของประเทศไทยในการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือก และย้ำความตั้งใจของประเทศไทยที่จะร่วมมือกับรัฐบาลเยอรมันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันวางแผนการที่มีประสิทธิผลเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่สะอาดและยั่งยืน
.
     ในคำกล่าวเปิดงานคุณลิกกี้ ลี พิทเซ่น (Likki-Lee Pitzen) โฆษกสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย ได้เน้นความสำคัญของโครงการ TGED ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและเยอรมนี และยังกล่าวถึงความตั้งใจของเยอรมนีที่จะเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนไปพร้อมกับการรักษาคุณภาพสินค้าเกษตรที่ส่งออก ซึ่งคล้ายกับประเทศไทยที่ภาคเกษตรกรรมมีความสำคัญอย่างมาก และมีเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยิ่งใหญ่
.
     ในงานนี้มีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่าหนึ่งร้อยคน โดยเป็นตัวแทนจากกระทรวงต่าง ๆ ของไทย และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ภายในงาน ผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี (SGtech) มหาวิทยาลัยนเรศวร และนักวิจัยจากสถาบันวิจัยด้านพลังงานไฟฟ้าในเยอรมัน Fraunhofer Institute for Solar Energy Systems ISE และ PSE Projects GmbH ได้ให้ความรู้ในเรื่อง Agrivoltaics และสถานการณ์ปัจจุบันของ Agrivoltaics ในประเทศไทยจากการศึกษาภายใต้โครงการ TGED นอกจากนั้น ยังนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีจากกรณีศึกษานานาชาติ รวมไปถึงวิธีการนำแนวปฏิบัติเหล่านั้นมาปรับใช้ในบริบทของประเทศไทย
.
     หนึ่งในข้อแนะนำสำหรับประเทศไทย คือควรเน้นการพัฒนาศักยภาพสำหรับชุมชนท้องถิ่นเพื่อที่จะแสดงว่า Agrivoltaics เป็นประโยชน์ต่อทั้งเจ้าของฟาร์มและผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังย้ำถึงความสำคัญของนโยบายและข้อบังคับของภาครัฐ เพื่อที่จะจูงใจและช่วยให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นได้ง่ายขึ้น และทำให้เทคโนโลยีคงความทันสมัย
.
     โครงการ Thai-German Energy Dialogue หรือ TGED สนับสนุนโดยกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMWK) และดำเนินการโดย GIZ เป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจของเยอรมนีที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียนของนานาชาติ ซึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศด้านพลังงานและการอภิปรายแลกเปลี่ยนด้านพลังงานนับเป็นกลไกสำคัญ โดยความร่วมมือนี้ยังรวมไปถึงการพูดคุยในระดับรัฐต่อรัฐ และกิจกรรมโครงการที่มีจุดประสงค์และผลที่เป็นรูปธรรม พร้อมเน้นการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจของไทยและเยอรมนี
.
(เรื่อง: ณิชากร พัฒนาถาวร // ภาพ: โครงการ Thai-German Energy Dialogue)
Cr. Page GIZ Thailand

ดร.สมภพ พัฒนอริยางกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน

Dr Sompop Pattanariyankool, Inspector-General, Ministry of Energy of Thailand

คุณลิกกี้ ลี พิทเซ่น โฆษกสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย

Ms Likki-Lee Pitzen, Spokesperson of the German Embassy

(จากซ้ายไปขวา) คุณทิม นีส์ ผู้จัดการโครงการ TGED; คุณ ลิกกี้ ลี พิทเซ่น โฆษกสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี; ดร.สมภพ พัฒนอริยางกูล ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน; คุณกฤติยา เพ็ชรศรี กองการต่างประเทศ กระทรวงพลังงาน

(From left to right) Mr Tim Nees, TGED Programme Manager; Ms Likki-Lee Pitzen, Spokesperson of the German Embassy; Dr Sompop Pattanariyankool, Inspector-General of the Ministry of Energy; Ms Krittiya Petsee, International Affair Division, Ministry of Energy