History of our SGtech

ความเป็นมาของวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี

     พ.ศ. 2538 มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยและฝึกอบรมพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy Research and Training Center; SERT) ตามความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยนเรศวร ให้เป็นหน่วยงานที่มีระบบบริหารที่ไม่ใช่ระบบราชการ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานด้วยความคล่องตัว สนองความต้องการด้านพลังงานของประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีความเหมาะสมทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม เทคโนโลยี และการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม โดยอยู่ภายใต้กำกับการดูแลของสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ.2533 มีวัตถุประสงค์เพื่อ ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาด้านพลังงาน โดยเน้นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานไฟฟ้า พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานชีวมวล พลังงานก๊าซชีวภาพและพลังงานใต้พิภพ ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้พัฒนาประเทศ ตลอดจนการให้บริการด้านการจัดการอนุรักษ์พลังงานแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชน ชุมชนทั่วไป ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านวิชาการและงานวิจัยต่างๆ กับหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงประเทศในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง
     พ.ศ.2542 ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมพลังงานแสงอาทิตย์ ได้จัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) สาขาวิชาพลังงานทดแทน ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย เปิดสอนในระดับปริญญาโท เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านพลังงานให้สามารถนำความรู้ไปพัฒนาการใช้พลังงานทดแทนและการจัดการพลังงานให้เกิดประสิทธิผล
     พ.ศ.2545 ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมพลังงานแสงอาทิตย์  ได้พัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพลังงาน (หลักสูตรนานาชาติ) ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย เพื่อพัฒนานักวิชาการและบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถในระดับสูงด้านพลังงานทดแทน
     พ.ศ.2546 สภามหาวิทยาลัยนเรศวร ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2546 (ครั้งที่ 107) เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 ได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งเป็นหน่วยงานใหม่ ชื่อ “วิทยาลัยพลังงานทดแทน” หรือ School of Renewable Energy Technology (SERT) ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา โดยให้มีพันธกิจหลัก 4 ด้าน ได้แก่ ด้านผลิตบัณฑิตระดับบัณฑิตศึกษา (ระดับปริญญาโท และปริญญาเอก สาขาวิชาพลังงานทดแทน) ด้านงานวิจัย ด้านบริการวิชาการแก่สังคม และด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัล ทำให้เกิดการ Disruption เทคโนโลยีทางด้านพลังงานทั่วโลก โดยเฉพาะทางด้านโครงข่ายสมาร์ตกริด (Smart Grid)
     พ.ศ. 2561 สภามหาวิทยาลัยได้เห็นชอบและอนุมัติการปรับเปลี่ยนชื่อเป็น “วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี” หรือ School of Renewable Energy and Smart Grid Technology (SGtech) เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิจิทัล มีการจัดเรียนการสอนหลักสูตรใหม่ระดับปริญญาโท และปริญญาเอก สาขาวิชาสมาร์ตกริดเทคโนโลยี (Smart Grid Technology)
     พ.ศ. 2563 สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้เปิดหลักสูตรใหม่ และให้มีการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาโท และปริญญาเอก สาขาวิชาการจัดการสมาร์ตซิตี้และนวัตกรรมดิจิทัล (Smart City Management and Digital Innovation)

Our Director

ทำเนียบผู้อำนวยการวิทยาลัยนับแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน

รศ.ดร.วัฒนพงศ์ รักษ์วิเชียร

Assoc.Prof.Dr.Wattanapong Rakwichien

1995 – 2010

ดร.สุขฤดี สุขใจ

Dr.Sukruedee Sukchai

2011 – 2018

รศ.ดร.วัฒนพงศ์ รักษ์วิเชียร

Assoc.Prof.Dr.Wattanapong Rakwichien

2019 – 2022

รศ.ดร.นิพนธ์ เกตุจ้อย

Assoc.Prof.Dr.-ing.Nipon Ketjoy

2023 – Present